วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555
ความหมายของการทำบัญชี
ในหลักการบัญชี การบัญชีและการทำบัญชีนั้น มีความหมายแตกต่างกัน ซึ่งการทำบัญชีนั้น มีผู้กล่าวไว้ดังนี้
Sidney Davidson และ Roman L.Weil (Davidson and Weil 1977 : vii ) กล่าวว่า
“ การทำบัญชี คือ ระบบการให้ข้อมูล โดยเป็นระบบข้อมูล ซึ่งออกแบบขึ้นเฉพาะ เพื่อสื่อความหมายทางเศรษฐกิจ อย่างมีคุณค่าขององค์การธุรกิจต่าง ๆ หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ของหน่วยงาน ”
สวัสดิ์ พุ่มภักดี ( 2537 : 4 ) กล่าวว่า
“ การทำบัญชี ” ได้แก่ การจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับการเงิน หรือสิ่งของที่กำหนดมูลค่าเป็นเงินไว้เป็นหลักฐาน โดยจัดแยกไว้เป็นประเภทต่าง ๆ เพื่อให้แสดงผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน ตลอดจนการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานนั้น ๆ
ธนชัย ยมจินดา ( 2532 : 10 ) กล่าวว่า
“ การทำบัญชี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบัญชี กล่าวคือ เป็นงานประจำที่เกี่ยวข้องกับการบันทึก และรวบรวมข้อมูลประจำวัน เพื่อให้สามารถจัดทำงบการเงินต่าง ๆ ต่อไปได้ ”
พจนานุกรม สำหรับนักบัญชีของ Kohler กล่าวใน การบัญชีเบื้องต้นของ ธรรมนูญ อัดคพานิช , พยอม สิงห์เสน่ห์ ( 2524 : 1 ) ว่า
“ การทำบัญชี เป็นวิธีการวิเคราะห์ จัดประเภท และบันทึกรายการ โดยมีแผนที่ได้จัดวางไว้ เพื่อความเป็นระเบียบในการดำเนินกิจการ สามารถแสดงฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของการประกอบการได้ ”
บทสรุป
การทำบัญชี เป็นการรวบรวมข้อมูล แล้วนำไปจดบันทึกรายการธุรกิจที่เกิดขึ้นตามลำดับเหตุการณ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลจัดทำงบการเงิน และรายงานประจำของผู้มีหน้าที่ทำบัญชี
ดังนั้น การบัญชี ( Accounting ) และการทำบัญชี ( Book – Keeping ) จึงแตกต่างกันกล่าวคือ
การบัญชี เป็นวิชาการเกี่ยวกับการใช้ความคิดในการวางระบบบัญชี เพื่อให้ผู้ทำบัญชีที่มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล และทำรายงานประจำ ตามกฎและระเบียบปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ต้องจัดวางและประเมินผลระบบควบคุมภายใน วิเคราะห์ตีความข้อมูล ใช้ข้อมูลสถิติตัดสินใจวางแผนงานในอนาคตของหน่วยงาน ผู้ปฏิบัติงานการบัญชี เรียกว่า “ Accountant ”
การทำบัญชี เป็นงานประจำที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบัญชี ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลบันทึกรายการค้าจัดทำงบการเงิน และรายงานเกี่ยวกับงานประจำ ตามกฎและระเบียบวิธีปฏิบัติที่วางไว้ ผู้ทำบัญชี จึงเรียกว่า “ Book - Keeper ”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น